02-05-2568

รมว.ศธ เน้นย้ำความปลอดภัยช่วงเปิดเทอม พร้อมกำชับโรงเรียนให้คำนึงถึงการลดภาระเด็กและผู้ปกครองเป็นสำคัญ

   พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานในพิธี Kickoff : โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout) ระยะที่ 2 “นำการเรียนไปให้น้อง” และการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน “เรียนดี มีความสุข : กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข” โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ผู้บริหารหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยที่ผ่านมา ศธ. ได้เร่งติดตามการดำเนินงานในทุกจังหวัดให้ครบ 100% เพื่อที่จะสามารถนำผลการติดตามมาวิเคราะห์และช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมมือกันในการนำเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา จนขณะนี้เราสามารถค้นหาติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาครอบคลุม 77 จังหวัด ในทุกเขตพื้นที่ครบ 100% แล้ว และในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ เราจะดำเนินการระยะที่ 2 คือ นำการเรียนไปให้น้อง โดยมีการนำระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาแบบยืดหยุ่น มีทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพราะเด็กแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราก็จะพาการศึกษาไปหาเด็กๆ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime 

   นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังคงดำเนินการให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครู และชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิทางการศึกษาและการสนับสนุนตามความต้องการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้สถานศึกษาจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ก็จะมีการนำนวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้กับชุมชน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน เพื่อให้สามารถเก็บหน่วยกิตได้ ส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนและเพื่อให้โอกาสในการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในทุกเขตพื้นที่

   รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการเรื่องแบบเรียนทางด้านสำนักงาน สกสค. มีความพร้อมทั้งเครื่องแบบนักเรียนและแบบเรียน ซึ่งเชื่อมโยงถึงเรื่องเครื่องแบบชุดลูกเสือซึ่งบริบทความพร้อมของแต่ละสถานศึกษาต่างกันถ้าสถานศึกษาใดมีความพร้อมก็แต่งเครื่องแบบไป ส่วนสถานศึกษาไหนที่บริบทในพื้นที่ไม่สอดคล้องหรือไม่มีความพร้อมก็ให้แต่งชุดลำลองไป โดยอาจจะใส่แค่อุปกรณ์แสดงสัญลักษณ์เช่นผ้าพันคอก็ได้ ก็ขอฝากว่าอะไรที่ลดภาระแก่นักเรียนได้ก็ขอให้เขตพื้นที่ปฏิบัติ 
นอกจากนี้ ในเรื่องความปลอดภัย ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นภัยคุกคามต่อเด็กเพราะวุฒิภาวะของเด็กเด็กนั้นมีไม่พอจึงต้องมีการศึกษาและให้ความรู้กับเด็กนักเรียนอย่างถูกต้องให้ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
ส่วนมิติที่ตนอยากเพิ่มเติมคือความร่วมมือในด้านของทรัพยากรของสถานศึกษาอยากให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการทางด้านวิชาการรวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเช่นด้านสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพของเด็กทั้งกายและใจ หรือความร่วมมือกับฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองในการดูแลรักษาความปลอดภัยและในวันเปิดภาคเรียนตนอยากให้มีการวางแผนในเรื่องของการจราจรเนื่องจากในช่วงเปิดเทอมมักมีการจราจรที่ติดขัด
และในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนจะมีการสอบพิซา ก็อยากฝากให้ทางโรงเรียนให้ปลูกฝังให้เด็กเห็นความสำคัญในการทดสอบเรื่องนี้ด้วยเนื่องจากเป็นผลชี้วัดในเรื่องของการศึกษาของไทย

   ด้านนายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ความสำเร็จต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา จะเริ่มเห็น เป็นรูปธรรมได้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการช่วยกันขับเคลื่อน ทั้งเรื่องการลดภาระครู ลดการอยู่เวรของครูให้ไปทำหน้าที่การเรียนการสอน การแก้ไขปัญหาหนี้ครู เป็นต้น อย่างไรก็ตามด้วยนโยบายเรียนดีมีความสุข ของพลตำรวจเอกเพิ่มพูนชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาต่างๆของศธ. ดำเนินไปได้ด้วยดี และเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ยิ่งขึ้นต่อไป พร้อมยืนยันว่าทุกนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการจะช่วยลดภาระให้แก่ครูไม่ใช่เป็นการเพิ่มภาระอย่างแน่นอน