02-05-2568

กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้า Zero Dropout ระยะ 2 “นำการเรียนไปให้น้อง” เตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนปี 68


วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธี Kickoff : โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout) ระยะที่ 2 “นำการเรียนไปให้น้อง” และการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน “เรียนดี มีความสุข : กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข” โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ผู้บริหารหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล, นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง, นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมด้วย นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมทั้งสิ้นกว่า 500 คน เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และร่วมประชุมออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom และช่องทางการถ่ายทอดสด OBEC Channel ของ สพฐ.
   รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยที่ผ่านมา ศธ. ได้เร่งติดตามการดำเนินงานในทุกจังหวัดให้ครบ 100% เพื่อที่จะสามารถนำผลการติดตามมาวิเคราะห์และช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมมือกันในการนำเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา จนขณะนี้เราสามารถค้นหาติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาครอบคลุม 77 จังหวัด ในทุกเขตพื้นที่ครบ 100% แล้ว และในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ เราจะดำเนินการระยะที่ 2 คือ นำการเรียนไปให้น้อง โดยมีการนำระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาแบบยืดหยุ่น มีทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพราะเด็กแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราก็จะพาการศึกษาไปหาเด็กๆ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime 
นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังคงดำเนินการให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครู และชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิทางการศึกษาและการสนับสนุนตามความต้องการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้สถานศึกษาจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ก็จะมีการนำนวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้กับชุมชน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน เพื่อให้สามารถเก็บหน่วยกิตได้ ส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนและเพื่อให้โอกาสในการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในทุกเขตพื้นที่
“สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 อันใกล้นี้ (16 พฤษภาคม 2568) ขอฝากให้สถานศึกษาทุกแห่ง ดูแลและดำเนินการเตรียมความพร้อมฯ รวมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนทุกคน ให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะชีวิต และมีคุณธรรมจริยธรรมที่เหมาะสม พร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมั่นใจ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน จึงไม่ใช่เพียงแค่เตรียมเปิดภาคเรียนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น แต่เป็นการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ตนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความตั้งใจและความร่วมมือของทุกฝ่าย ในการมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และสิ่งสำคัญคือ “ความร่วมมือพัฒนาการศึกษา” ที่พวกเราจะทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ด้วยการทำงานเป็นทีมและจะประสบผลสำเร็จได้หากพวกเราทุกคน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ ให้คนไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
  ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า Thailand Zero Dropout เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ตนมั่นใจว่า โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout จะสามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองที่มีความจำเป็นแตกต่างกันได้ โดย “นำการเรียนไปให้น้อง” จะจัดสำหรับนักเรียนที่มีความจำเป็นเฉพาะไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนในระบบได้ โรงเรียนก็จะนำการเรียนไปให้นักเรียนได้เรียนที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย โดยปัจจุบันมีการนำร่องนำการเรียนไปให้น้องในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรียนมือถือ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา, ห้องเรียน/บวรสร้างโอกาส, ห้องเรียนเคลื่อนที่ ห้องเรียนสาขา, เครดิตแบงก์/เทียบโอนหน่วยกิต และเปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โดยครูประจำชั้น ครูฝ่ายวิชาการ ร่วมจัดหาสื่อการเรียนรู้ นำแบบฝึกใบงานไปให้นักเรียนที่บ้าน ผู้ปกครองช่วยสอนและทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน มีการประเมินนักเรียนจากคลิปวิดีโอที่ผู้ปกครองส่งให้ เป็นต้น  
“ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 54 โรงเรียน ใน 16 เขตตรวจราชการที่เป็นโรงเรียนต้นแบบจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และมีโรงเรียน จำนวน 927 โรงเรียนที่สมัครพัฒนาโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ ผอ.สพท. ทั่วประเทศ มีการบูรณาการดำเนินงานแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเชิญชวนประสานกับภาคีเครือข่าย หรือชุมชนมาร่วมค้นหา จัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น และมีการชี้เป้า เฝ้าระวัง เด็กเยาวชนที่มีลักษณะที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพื่อพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง ให้ได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง สู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout หรือ เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ให้เร็วที่สุด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 เนื่องด้วยเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่สถานศึกษาทั่วประเทศเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนใหม่ การประชุมในวันนี้จึงเกิดขึ้น จากการผนึกกำลังร่วมกันของหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) รวมถึงภาคีสำคัญ คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษาทุกสังกัด ทุกระดับ ได้รับทราบนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายการขับเคลื่อนการศึกษาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้การดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาในภาคเรียนใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามความพร้อมของสถานศึกษาในทุกมิติ อาทิ ด้านความปลอดภัย หลักสูตร บุคลากร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ โดยมีวาระสำคัญสำหรับปีการศึกษา 2568 คือ “เรียนดี มีความสุข : กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข” เพื่อมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้ผู้เรียนทุกคน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” อย่างยั่งยืนต่อไป